Search
Close this search box.

วิธีการสำรวจแร่

วิธีการสำรวจแร่

การสำรวจแร่ เป็นการดำเนินการเพื่อพิสูจน์ทราบความมี/ไม่มีสายแร่ รวมถึงความสมบูรณ์ ปริมาณแร่ ธรณีวิทยา รวมทั้งข้อมูลที่อาจพิสูจน์ทราบได้ ด้วยวิธีการทางธรณีวิทยาภาคสนาม ธรณีเคมี ธรณีฟิสิกส์ วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี โดยสามารถทำการสำรวจทั้งทางอากาศ บนผิวดิน และใต้ดิน

การสำรวจทางอากาศ

        การสำรวจทางอากาศ เป็นการสำรวจระยะไกล เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐาน ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง โดยใช้เทคนิคการสำรวจหลายชนิด เช่น ดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ การสำรวจธรณีฟิสิกส์ทางอากาศ

        ในการสำรวจจะติดตั้งเครื่องมือไว้บนดาวเทียม หรือเครื่องบิน เพื่อตรวจวัดคุณสมบัติทางฟิสิกส์ หรือถ่ายภาพของพื้นผิวโลก แล้วนำมาศึกษา และแปลความหมาย เพื่อหาบริเวณที่มีลักษณะหรือโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่เหมาะสมแก่การสะสมตัวของแหล่งแร่

        การสำรวจทางอากาศ มักใช้เป็นเบาะแสเบื้องต้นสำหรับสำรวจในขั้นละเอียดภาคพื้นดิน

การสำรวจบนผิวดิน

วิธีการทางธรณีวิทยา เป็นการสำรวจเพื่อเก็บข้อมูล และศึกษาลักษณะของหิน ธรณีวิทยาโครงสร้างของสายแร่ หรือแหล่งแร่ ซึ่งส่วนใหญ่นักธรณีวิทยาจะใช้วิธีการสำรวจประกอบแผนที่ และอุปกรณ์ภาคสนามง่าย ๆ เช่น ค้อนธรณี เข็มทิศ และถุงเก็บตัวอย่าง เป็นต้น

วิธีการทางธรณีฟิสิกส์ เป็นการประยุกต์ทฤษฎีทางฟิสิกส์ โดยอาศัยคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของวัตถุที่แตกต่างกัน เช่น คุณสมบัติแม่เหล็ก การนำไฟฟ้า และความเข้มกัมมันตรังสี วิธีการสำรวจจะใช้เครื่องมือวัดคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของชั้นดิน ชั้นหิน หรือสายแร่ แล้วนำไปประมวลผล และแปลความหมาย

วิธีการทางธรณีเคมี เป็นการสำรวจหาบริเวณที่มีศักยภาพทางแร่ โดยการเก็บตัวอย่างหิน ดิน ตะกอนทางน้ำ หรือพืช แล้วนำไปวิเคราะห์ทางเคมีหาปริมาณธาตุต่าง ๆ ที่บ่งชี้ถึงบริเวณที่มีแร่ ในการสำรวจแร่ทองคำ ดีบุก และแร่หนัก การเลียงเป็นวิธีการขั้นต้นที่สามารถบอกบริเวณที่เป็นแหล่งแร่ทองคำได้

การสำรวจใต้ดิน

การสำรวจใต้ดิน เป็นการสำรวจเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลธรณีวิทยาแหล่งแร่ทั้ง 3 มิติ คือ ด้านกว้าง ด้านยาว และด้านลึก ด้วยวิธีขุดหลุมทดลอง ร่องสำรวจ และเจาะสำรวจ

การขุดหลุมทดลอง และร่องสำรวจ จะทำการขุดตัดขวางการวางตัวของสายแร่ หรือทำมุมเกือบ 90 องศากับสายแร่ เพื่อศึกษาความหนา การวางตัว และทิศทางของสายแร่แบบสามมิติ ซึ่งการขุดหลุมทดลอง ควรมีขนาดประมาณ
1 X 1 เมตร และการขุดร่องสำรวจ ควรมีขนาดความกว้างประมาณ 1 เมตร ความยาวควรครอบคลุมความกว้างของแนวพบแร่

การเจาะสำรวจ เป็นการเก็บข้อมูลในระดับลึก โดยเก็บตัวอย่างชิ้นเศษหิน และแท่งหินจากหลุมเจาะ แล้วนำไปศึกษา วิเคราะห์ทางเคมี และฟิสิกส์ เพื่อให้ทราบความลึก ขนาด รูปร่าง และความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ เพื่อที่จะนำไปประเมินค่าแหล่งแร่ ศึกษาความเหมาะสมในเชิงพาณิชย์ และพัฒนาเป็นเหมืองแร่ต่อไป

ที่มา : https://www.dmr.go.th/wp-content/uploads/2022/09/วิธีการสำรวจแร่-ภาพรวม.pdf

Share This Article :