การสำรวจธรณีฟิสิกส์ (geophysical exploration) หมายถึง การสำรวจเพื่อตรวจสอบสภาพธรณีวิทยาใต้ผิวดิน โดยอาศัยคุณสมบัติด้านกายภาพ (physical property) ของวัตถุใต้ผิวดินที่แตกต่างกัน ด้วยเครื่องมือที่มีการออกแบบมาเพื่อให้สามารถตรวจวัดความแตกต่างดังกล่าวของวัตถุต่าง ๆ ได้ โดยทำการตรวจวัดที่ผิวดินและแปลความหมายไปที่ระดับความลึกต่าง ๆ ใต้ผิวดิน เช่น การสำรวจวัดค่าสภาพต้านทานไฟฟ้า (Electrical Resistivity Tomography : ERT) การสำรวจวัดค่าแรงโน้มถ่วง (gravity survey) และการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน (seismic survey) เป็นต้น
วิธีการสำรวจ | ค่าที่วัด | สมบัติทางกายภาพ |
คลื่นไหวสะเทือน (seismic) | เวลาที่ใช้ในการเดินทางของคลื่นไหวสะเทือน | ความหนาแน่นและสมบัติความยืดหยุ่น |
ความถ่วง (gravity) | การเปลี่ยนแปลงความเข้มสนามแรงโน้มถ่วงของโลก | ความหนาแน่น |
แม่เหล็ก (magnetic) | การเปลี่ยนแปลงความเข้มสนามแม่เหล็กโลก | ค่าความสามารถในการเป็นแม่เหล็กและแม่เหล็กคงค้าง |
ความต้านทานไฟฟ้าจำเพาะ (resistivity) | ความต้านทานไฟฟ้า | ความสามารถในการนำไฟฟ้า |
การเหนี่ยวนำโพลาไรเซชัน (induced polarization) | ความต่างศักย์ของการเหนี่ยวนำโพลาไรเซชันหรือ ความต้านทานไฟฟ้าของพื้นดินที่ขึ้นกับความถี่ | ความสามารถในการเก็บไฟฟ้า |
ศักย์ไฟฟ้าธรรมชาติ (self-potential) | ค่าความต่างศักย์ไฟฟ้า | ความสามารถในการนำไฟฟ้า |
แม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic) | ค่าตอบสนองต่อสนามแม่เหล็กไฟฟ้า | ความสามารถในการนำไฟฟ้าและการเหนี่ยวนำ |
กัมมันตรังสี (radioactive) | การแผ่รังสีแกมมา | ความสมบูรณ์ของนิวเคลียสที่แผ่กัมมันตรังสี |
คำว่า “ธรณีฟิสิกส์ หรือ geophysics” เกิดจากการผสมกันของคำว่า “geo” ที่แปลว่าโลกกับคำว่า “physics” ที่แปลว่า วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสารพลังงานการเคลื่อนไหวและแรง คำว่า “geophysics” จึงหมายถึง “การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสารพลังงานการเคลื่อนไหวและแรงที่เกี่ยวกับวัสดุที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นโลก” ทั้งนี้ธรณีฟิสิกส์ เป็นการศึกษาส่วนต่าง ๆ ของโลก ทั้งส่วนที่เป็นเปลือกโลก (crust) ประกอบด้วยชั้นดินและชั้นหิน แมนเทิล (mantle) และแกนกลางของโลก (core) โดยอาศัยหลักการที่ว่าวัตถุต่างชนิดกันย่อมมีคุณสมบัติทางกายภาพ (physical properties) ที่ต่างกัน โดยการสํารวจทางธรณีฟิสิกส์จะวัดลักษณะความแตกต่างกันทางคุณสมบัติทางกายภาพของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ใต้ผิวดินด้วยเครื่องมือที่มีการออกแบบมาเพื่อให้สามารถตรวจวัดความแตกต่างทางกายภาพเฉพาะตัวของวัตถุต่าง ๆ ได้โดยการสํารวจธรณีฟิสิกส์จะทําการตรวจวัดที่ผิวดินและแปลความหมายไปที่ระดับความลึกต่างๆ ใต้ผิวดินการสํารวจด้วยวิธีทางธรณีฟิสิกส์เป็นการเพิ่มขอบข่ายความสามารถของการสํารวจใต้ผิวดินที่ไม่ได้เห็นได้ทันทีช่วยให้การเจาะหรือขุดเพื่อพิสูจน์ทราบข้อมูลใต้ผิวดินเป็นไปได้อย่างแม่นยําขึ้น มีผลให้ช่วยลดต้นทุนในการสํารวจ
อนึ่ง การสํารวจด้วยวิธีทางธรณีฟิสิกส์อาจไม่ใช่วิธีที่บอกผลที่ต้องการได้ทันทีต้องอาศัยประสบการณ์การแปลผลของผู้สำรวจเป็นสําคัญ
ที่มา : https://hub.mnre.go.th/th/knowledge/detail/65136
https://www.dmr.go.th/wp-content/uploads/2022/09/การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์.pdf
